Pages

Ads 468x60px

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การลบและติดตั้ง Windows ใหม่แบบที่ไม่ต้องทำการ format ฮาร์ดดิสก์

จากหน้าของ การติด ตั้ง Windows 98 จะเห็นว่า ผมแนะนำให้ทำการล้างโปรแกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในฮาร์ดดิสก์ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการติดตั้ง Windows ใหม่ ซึ่งหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้ทำการแบ่งพาร์ติชันของ ฮาร์ดดิสก์ เป็นหลาย ๆ Drive หรือมีฮาร์ดดิสก์เพียงแค่ตัวเดียว จะไม่สามารถทำการสำรองไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ เก็บไว้ได้ ตรงนี้จะแนะนำขั้นตอน วิธีการแบบง่าย ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการลง Windows ใหม่แบบไม่ต้องทำการฟอร์แม็ตฮาร์ดดิสก์ให้ได้ทราบกัน
หลักการคร่าว ๆ ก็คือ ให้ทำการเปลี่ยนชื่อของ โฟลเดอร์ ที่เก็บระบบของ Windows และ Application ต่าง ๆ ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมี 2 Folder คือ C:\Windows กับ C:\Program Files เปลี่ยนเป็นชื่ออื่นก่อน หลังจากนั้นก็ทำการ Setup ติดตั้ง Windows ตัวใหม่ลงไปตามปกติ โดยระบบจะมีการสร้างโฟลเดอร์ที่ชื่อ C:\Windows และ C:\Program Files นี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อเสร็จขั้นตอนการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ค่อยทำการลบโฟลเดอร์ของ Windows ตัวเดิมที่ได้เปลี่ยนชื่อไปแล้วทิ้ง เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว
โฟลเดอร์ ของ Windows มีอะไรบ้าง
ก่อนอื่นมาดูโฟลเดอร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows 98 กันก่อน โดยเปิดที่ Windows Explorer เพื่อดูโฟลเดอร์ และไฟล์ต่าง ๆ ที่ใช้งาน

จาก ตัวอย่างในเครื่อง จะเห็นว่าหลัก ๆ ของโฟลเดอร์ที่จำเป็นสำหรับ Windows มีดังนี้
Program Files เป็นที่เก็บซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่รันบน Windows เช่น Office, ACDSee หรืออื่น ๆ
Windows เป็นที่เก็บไฟล์ของระบบปฏิบัติการของ Windows
My Document เป็นที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่นเอกสาร word excel และอื่น ๆ
นอกเหนือไปจากนี้ ก็คือข้อมูลต่าง ๆ ของเครื่องที่ใช้งานที่มีการเก็บไว้ หรือในบางครั้งก็จะมีการสร้างโฟลเดอร์ ต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือไปจากนี้ ลองพิจารณาดูว่า ข้อมูลของคุณที่มีอยู่นั้น เก็บไว้ที่ไหนบ้าง และรายชื่อโฟลเดอร์ต่าง ๆ ที่จะเห็นจากหน้านี้ มีอะไรบ้าง อันไหนใช้งาน อันไหนไม่ได้ใช้งานนะครับ
หลักการของการลบ Windows เพื่อทำการติดตั้งใหม่ ก็คือให้ทำการลบไฟล์และโฟลเดอร์ที่เก็บข้อมูลของระบบ ออกจากเครื่อง ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงโฟล์เดอร์ 2 อันเท่านั้นคือ C:\Program Files และ C:\Windows ครับ หาทางลบเจ้า 2 ตัวนี้ออกไปจากเครื่องเท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราใช้งานระบบ Windows อยู่ในขณะนี้ เราจะไม่สามารถลบไฟล์หรือโฟลเดอร์ 2 อันนี้ออกได้ (อาจจะลบได้แต่จะไม่หมด) ดังนั้น วิธีการจัดการเรื่องนี้ จะมี 2 แบบคือ
1. ทำการลบเฉพาะโฟลเดอร์ที่เก็บระบบ 2 อันนี้ โดยใช้คำสั่ง DELTREE ใน DOS Prompt
2. ทำการเปลี่ยนชื่อของโฟลเดอร์ ทั้งสองนี้ให้เป็นชื่ออื่น ก่อนที่จะทำการติดตั้ง Windows ใหม่
ซึ่งจาก 2 วิธีการข้างต้น จะเลือกใช้แบบไหนก็ได้ครับ โดยที่วิธีที่ 1. อาจจะเสียเวลารอค่อนข้างนาน เหมาะกับผู้ที่มีขนาดพื้นที่ของ ฮาร์ดดิสก์เหลือน้อย ๆ ส่วนวิธีที่ 2. จะรวดเร็วกว่ากันมาก แต่จะต้องมีพื้นที่ของ ฮาร์ดดิสก์เหลือ มากพอที่จะติดตั้ง Windows ลงไปได้อีกตัวครับ
1. วิธีการลบโฟล์เดอร์ของระบบด้วยคำสั่ง DELTREE
เนื่องจาก หากเรายังใช้งาน Windows อยู่จะทำให้ไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ของระบบได้ ดังนั้น ต้องทำการ บูทเครื่องโดยเข้าที่ DOS Prompt ก่อน (โดยการกดปุ่ม F8 ให้ทันขณะที่เปิดเครื่องใหม่และกำลังเริ่มต้นเรียกเข้า Windows และเลือกที่เมนู DOS Prompt) หรืออาจจะใช้วิธีการ Shutdown และเลือกที่ Restart in MS-DOS mode ก็ได้ หลังจากนั้น ลองใช้คำสั่งเพื่อดูข้อมูลไฟล์ที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์นั้น (ถ้าหากหน้าจอไม่อยู่ใน C:\ ให้สั่งว่า cd\ และกด Enter ก่อนด้วย)

จากตัวอย่าง จะเห็นรายชื่อของโฟลเดอร์ ที่สำคัญ 2 อันคือ WINDOWS กับ PROGRA~1 ครับ ทำการลบ 2 โฟลเดอร์นี้โดยใช้คำสั่งต่อไปนี้
deltree windows กด Enter
deltree progra~1 กด Enter
หลังจากที่กด Enter ของแต่ละคำสั่ง ต้องรอให้การลบเสร็จสิ้นก่อนสักพัก อาจจะนานหน่อยนะครับ ตรงนี้อาจจะช่วยให้การลบ เร็วขึ้นได้บ้างโดยการเรียกใช้โปรแกรม smartdrv.exe ก่อนสั่งคำสั่งทั้ง 2 ด้านบน ก็ช่วยให้การลบโฟลเดอร์ ทำได้เร็วขึ้น วิธีการคือ พิมพ์คำว่า smartdrv แล้วกด Enter เท่านั้นครับ จากนั้นจึงสั่ง deltree ตามตัวอย่างด้านบนได้เลย

นี่คือตัวอย่างของการลบโดยใช้คำสั่ง DELTREE หลังจากนั้นก็ทำการติดตั้ง Windows ใหม่ได้เลยครับ
2. วิธีการจะทำการเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ใหม่ก่อนลง Windows
อย่างที่บอกว่า อีกวิธีหนึ่งของการลบ Windows เพื่อลงใหม่โดยไม่ต้อง format คือการเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ที่ใช้งานระบบ ไปเป็นชื่ออื่นแทน ซึ่งวิธีนี้ จะรวดเร็วกว่ากันมาก ไม่ต้องรอการลบที่นาน ๆ ครับ
เนื่องจาก หากเรายังใช้งาน Windows อยู่จะทำให้ไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ของระบบได้ ดังนั้น ต้องทำการ บูทเครื่องโดยเข้าที่ DOS Prompt ก่อน (โดยการกดปุ่ม F8 ให้ทันขณะที่เปิดเครื่องใหม่และกำลังเริ่มต้นเรียกเข้า Windows และเลือกที่เมนู DOS Prompt) หรืออาจจะใช้วิธีการ Shutdown และเลือกที่ Restart in MS-DOS mode ก็ได้ หลังจากนั้น ลองใช้คำสั่งเพื่อดูข้อมูลไฟล์ที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์นั้น (ถ้าหากหน้าจอไม่อยู่ใน C:\ ให้สั่งว่า cd\ และกด Enter ก่อนด้วย)

จากรูปตัวอย่างด้านบน จะเห็นชื่อโฟล์เดอร์ที่จะต้องทำการเปลี่ยนชื่อคือ WINDOWS และ PROGRA~1 (ซึ่งตัวนี้ หากดูใน Windows ก็คือ Program Files นั่นเอง) ทำการเปลี่ยนชื่อโดยใช้คำสั่งดังนี้
move windows oldwin1 กด Enter
move progra~1 oldwin2
กด Enter
เปลี่ยนชื่อโฟล์เดอร์ของทั้งสองอัน ให้เป็น oldwin1 และ oldwin2 แทนครับ หลังจากนั้นก็ทำการลง Windows ไปตามปกติ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเปิด My Computer จะเห็นชื่อ oldwin1 และ oldwin2 จัดการลบทิ้งไปได้เลยครับ
ในส่วนของโฟลเดอร์อื่น ๆ ก็ตามที่ได้บอกข้างต้นนะครับว่า บางครั้งการที่เราติดตั้งซอฟต์แวร์บางดัว อาจจะมีการสร้าง โฟลเดอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ก็ทำการลบทิ้งไปได้เลยในขั้นตอนหลังจากติดตั้ง Windows เสร็จ ก่อนที่จะทำการลงโปรแกรมต่าง ๆ ต่อไปจนครับตามต้องการ
อย่าลืมนะครับว่าวิธีนี้ เรียกว่าการลง Windows ใหม่เท่านั้น หากท่านต้องการจะทำการลง Windows แบบลงทับของเดิมเพื่อแก้ไขไฟล์บางไฟล์ ที่เกิดการเสียหายขึ้น ก็ไม่ต้องลบอะไรออกทั้งนั้นนะครับ เรียก setup ได้เลย

Norton Ghost โปรแกรมช่วย แบคอัพฮาร์ดดิสก์ เก็บไว้เผื่อยามฉุกเฉิน

ครั้งหนึ่ง สมัยที่ผมเองหัดใช้งาน Windows ช่วงแรก ๆ ก็ซนพอสมควร มีการลองของคือ ทดลองลงโปรแกรมต่าง ๆ เดี๋ยวใส่ เดี๋ยวเอาออก ไม่นานเท่าไรนัก Windows ตัวเก่งก็เพี้ยนไปเลย ต้องมาลง Windows ใหม่อีก เรียกได้ว่าต้องลง Windows ใหม่ทุกสัปดาห์เลยก็ว่าได้ เป็นอย่างนี้อยู่ค่อนข้างนานพอสมควร ในสมัยนั้นผมเองก็คิดหาวิธีที่จะทำการ copy ตัวซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เก็บไว้เป็นแบคอัพสำรองเอาไว้ เพื่อที่เวลามีปัญหา จะได้นำเอาไฟล์ที่ทำแบคอัพนั้นมาใช้งาน จนกระทั่งมาพบกับโปรแกรม Norton Ghost ที่มีความสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดใน พาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ ไว้ได้แบบที่เรียกว่า ทุกกระเบียดนิ้วเลยทีเดียว อีกทั้งตัวโปรแกรมก็ทำงานบน DOS ซึ่งเป็นการทำงานที่ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก และสามารถทำงานหลังจากที่ทำการ ฟอร์แม็ต ฮาร์ดดิสก์ ได้ทันที ใช้เวลาในการทำ แบคอัพ และนำกลับคืนไม่นานมากนัก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ท่านที่มีฮาร์ดดิสก์ ที่มีพื้นที่เหลือมากพอ หลังจากที่ทำการลง Windows ใหม่และติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ทำการเก็บแบคอัพข้อมูลและ Windows เก็บไว้ ครั้งต่อไป หากมีปัญหาที่ตัว Windows ก็จะได้ไม่ต้องมาทำการลงโปรแกรมใหม่ทั้งหมดครับ
ก่อนอื่น ต้องหาโปรแกรม Norton Ghost นี้มาใช้งานกันก่อน ลองดูจาก http://www.symantec.com/ นะครับ หรือถ้าหาไม่ได้ ก็โหลดจาก ที่นี่ หรือ ที่นี่ ก็ได้ครับ โปรแกรมจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก หลังจากดาวน์โหลดมาแล้วก็ให้ทำการ unzip และเขียนไฟล์ ใส่แผ่นดิสก์ไว้ก่อน จากนั้น จะบูตเครื่องจากแผ่นดิสก์ที่ได้นี้ หรือจะ copy เฉพาะไฟล์ ghost.exe เก็บไว้ใน โฟล์เดอร์ต่างหาก เพื่อที่จะใช้งานโดยตรงเลยก็ได้
ทำความเข้าใจกับฮาร์ดดิสก์ในเบื้องต้นก่อน
ก่อนการ ใช้งาน Norton Ghost อยากจะให้ทำความเข้าใจ ระบบการเก็บข้อมูลและการแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ กันก่อน เพราะตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ หากเราไม่เข้าใจและทำโดยใส่ไดร์ฟหรือพาร์ติชันผิด ข้อมูลต่าง ๆ อาจจะหายไปทั้งหมดเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้พยายามศึกษาคำว่า Drive และ Partition ให้เข้าใจจริง ๆ ก่อน
Drive ในที่นี้หมายถึง ตัวฮาร์ดดิสก์ คือ ในคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องสามารถที่จะทำการติดตั้ง ไดร์ฟต่าง ๆ ได้หลาย ๆ ตัวเช่น Drive A: คือฟลอปปี้ดิสก์ Drive C: คือฮาร์ดดิสก์ตัวแรก ส่วน Drive D: คือซีดีรอม เป็นต้น สำหรับกรณีของฮาร์ดดิสก์ จะมีพิเศษกว่านั้น คือเราสามารถทำการแบ่งฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวให้เป็นหลาย ๆ ไดร์ฟได้ เช่น ฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวแต่ถูกแบ่งออกเป็น Drive C: และ Drive D: โดยที่ซีดีรอม ก็จะกำหนดให้เป็น Drive E: แทนเป็นต้น
Partition ก็คือการแบ่งพื้นที่ของฮาร์ดดิสก์ ออกเป็นหลาย ๆ ไดร์ฟ หรือเรียกว่าการแบ่งเป็นหลาย ๆ Partition นั่นเอง จากตัวอย่างข้างบน คือ เราสามารถที่จะแบ่งฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวออกเป็นได้หลาย ๆ พาร์ติชัน หรือแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ไดร์ฟนั่นเอง ดูวิธีการจัด การกับพาร์ติชันได้ที่นี่
ทีนี้ ลองสำรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่กันก่อน ว่ามีฮาร์ดดิสก์ติดตั้งอยู่กี่ตัว และมีการแบ่งการใช้งานหรือแบ่งพาร์ติชัน ต่าง ๆ ออกเป็นอย่างไรบ้าง อย่างเช่นฮาร์ดดิสก์ของเครื่องที่ผมใช้งาน มี 1 ตัวแต่แบ่งออกเป็น 2 พาร์ติชัน ดังนั้น ในระบบ Windows เครื่องผมก็จะมองเห็นว่ามีไดร์ฟ C: กับ D: เป็นฮาร์ดดิสก์ ส่วนซีดีรอม ก็จะเป็นไดร์ฟ E: แทน ที่ต้องให้ทำความเข้าใจกับเรื่อง Drive และ Partition ตรงนี้ก่อน ก็เพราะว่า ในการใช้งาน Norton Ghost จะต้องมีการอ้างถึงสองคำนี้ และเพื่อเป็นการป้องกัน การผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากการใส่หรือระบุ Drive หรือ Partition ผิดครับ
ฮาร์ดดิสก์ที่จะทำแบคอัพได้ ต้องเป็นอย่างไร
จาก ที่ได้บอกแล้วว่า การใช้งาน Norton Ghost นี้จะเป็นการทำสำรองหรือแบคอัพข้อมูลทั้งพาร์ติชัน ของฮาร์ดดิสก์ ดังนั้น ฮาร์ดดิสก์หรือคอมพิวเตอร์ที่จะทำการแบคอัพแบบนี้ได้ จะต้องมีการแบ่งพาร์ติชัน ออกเป็นอย่างน้อย 2 พาร์ติชัน หรือจะต้องมีไดร์ฟ อยู่ในเครื่องอย่างน้อย 2 ไดร์ฟนั่นเอง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เราจะทำการเก็บทุกอย่างใน Drive C: นำเอาไปเก็บไว้ใน Drive D: เพื่อที่จะได้ทำการฟอร์แมต Drive C: ได้ หลังจากนั้น ก็ทำการนำข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ใน Drive D: มาใส่คืนใน Drive C: ใหม่ หรือที่เรียกว่าการ Restore นั่นเอง ดังนั้น หากใครมีฮาร์ดดิสก์แค่เพียง Drive C: ตัวเดียว คงจะต้องเริ่มต้นวางแผน การจัดแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ กันใหม่ก่อนนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ควรที่จะแบ่งออกเป็น 2 ไดร์ฟ เพื่อใช้สำหรับลง Windows ไดร์ฟหนึ่ง และอีกไดร์ฟที่เหลือก็สำหรับเก็บข้อมูลและไฟล์ที่จะทำแบคอัพด้วย Norton Ghost ด้วย หากเครื่องใครที่คิดว่าพร้อมแล้ว ก็เริ่มต้นทดลองใช้งานกันได้เลย
เริ่มต้นเรียกใช้งานโปรแกรม Norton Ghost
หลังจากที่หา ดาวน์โหลด มาแล้วก็ทำการ unzip และเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ จะได้ไฟล์ GHOST.EXE ซึ่งในการใช้งาน จะต้องทำใน MS-DOS Mode เท่านั้น วิธีการเข้า DOS Mode ทำได้โดยการสั่ง Shutdown และเลือกที่ Restart in MS-DOS mode หรือเมื่อบูทเครื่องใหม่ กดปุ่ม F8 ค้างไว้และเลือกที่ MS-DOS mode หรือจะเป็นการบูทเครื่องจากแผ่น Startup Disk Windows 98 ก็ได้ หลังจากเข้า MS-DOS mode แล้วก็ใช้คำสั่งเปลี่ยนโฟลเดอร์ไปที่ ๆ เก็บโปรแกรม Norton Ghost เรียก ghost และกด Enter จะมีโลโก้ของโปรแกรม กดที่ปุ่ม OK เพื่อเริ่มต้นการใช้งาน
การทำแบคอัพหรือทำสำเนาฮาร์ดดิสก์เก็บไว้
ขั้นตอนแรก คือการทำแบคอัพเก็บไว้ก่อน โดยการเรียกโปรแกรม Norton Ghost และกดที่ OK เพื่อเริ่มต้นการทำงาน จะเห็นเป็นเมนูต่าง ๆ ให้เลือก

ในการทำแบคอัพเก็บข้อมูล หลังจากเรียกโปรแกรมแล้ว ให้เลือกที่เมนู Local >> Partition >> To Image (ใช้ปุ่มลูกศรซ้ายขวา และกด Enter เพื่อเลือก) คือเป็นการสั่งให้ทำกับ Partition ให้สร้างเป็น Image ไฟล์เพื่อเก็บไว้ใช้งาน (Image คือไฟล์แบคอัพ ที่จะเก็บข้อมูลทั้งหมดของฮาร์ดดิสก์ครับ) กดปุ่ม Enter เพื่อเลือกการทำ Partition to Image ครับ

ทำการเลือก Drive ที่ต้องการจะทำแบคอัพสำรองข้อมูล คือ Drive ที่ 1 นั่นเอง (ตัวอย่างนี้มีฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวในเครื่องนี้) ใช้ปุ่ม Tab เพื่อเลื่อนปุ่มไปที่ OK และกด Enter (กดที่ปุ่ม Tab ไปเรื่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของการกดปุ่มได้)

จากนั้นทำการเลือก Partition ของ Drive ที่ต้องการจะทำแบคอัพ เช่นในที่นี้มีอยู่ 2 partition (คือ C: กับ D: นั่นเอง) ให้เลือกที่ Partition 1 คือ Drive C: และเลือกที่ OK (โดยกดปุ่ม Tab สำหรับเปลี่ยนตำแหน่งการกดปุ่มนะครับ)

จากนั้น เลือกชื่อไฟล์ของ Image file ที่จะเก็บเป็นข้อมูลไว้ เช่น win98th หรืออะไรก็ได้ กดที่ Open เพื่อทำงานต่อไป

โปรแกรมจะมีการถามถึงระดับของการบีบอัดข้อมูล เลือกที่ Fast ครับ

โปรแกรมจะถามยืนยันอีกครั้ง ก็กดที่ Yes เพื่อเริ่มต้นทำการแบคอัพทันที

ภาพตัวอย่างขณะที่โปรแกรมกำลังทำการก็อปปี้หรือทำแบ คอัพครับ รอจนจบก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการแบคอัพแล้ว ซึ่งเราจะได้ไฟล์ win98th.gho หรือชื่อไฟล์ตามที่เราตั้งไว้ ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ เก็บสำรองไว้
----------------------------------------------------------------------------
การนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้งานใหม่หรือที่เรียกว่า Restore
หลังจากนี้ หากวันดีคืนดี Windows มีอันต้องเป็นไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากเราต้องการที่จะนำเอาข้อมูลและโปรแกรมต่าง ๆ ที่ได้ทำการสำรองเก็บไว้ออกมาใช้เหมือนเดิม วิธีการก็จะคล้าย ๆ กันคือ เรียกโปรแกรม Norton Ghost ก่อน (จาก MS-DOS mode นะครับ)

ในการนำข้อมูลกลับมา หลังจากเรียกโปรแกรมแล้ว ให้เลือกที่เมนู Local >> Partition >> From Image คือเป็นการนำเอา Image file มาใส่ลงใน Partition นั่นเอง

เลือกไฟล์ที่ต้องการจะนำข้อมูลมาใช้งาน แล้วเลือกกดที่ Open

เลือก Partition ของข้อมูลที่อยู่ใน Image file และกด OK

เลือกฮาร์ดดิสก์ที่จะใส่ข้อมูลจาก Image file ควรระมัดระวัง Drive ให้ถูกต้องด้วยนะครับถ้ามีฮาร์ดดิสก์หลายตัว

ถ้าหากฮาร์ดดิสก์ที่เลือกใส่ข้อมูลกลับลง ไปมีหลายพาร์ติชัน ให้ทำการเลือก Partition ที่ต้องการ เช่น Drive C: ก็คือ Partition ที่ 1 นั่นเอง กดที่ OK

โปรแกรมจะมีการถามเพื่อยืนยันการทำงานอีกครั้ง หากมั่นใจว่าไม่มีอะไรใส่ผิดก็กดที่ Yes เพื่อเริ่มต้นการนำข้อมูลจาก Image file มาใส่ลงใน Partition ได้เลยครับ หลังจากที่โปรแกรมทำการก็อปปี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในกรณีเช่นนี้จะต้องทำการ Restart Computer ใหม่เสมอ หากไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะได้ Windows ตัวเดิมเมื่อครั้งที่ยังไม่มีปัญหากลับคืนมาเหมือนเดิมครับ
ข้อควร ระวังอย่างมากคือ การเลือก Drive และ Partition เพราะหากทำผิด Partition อาจจะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ หายได้ ดังนั้น ก่อนที่จะทำ ควรจะทำการสำรองข้อมูลที่สำคัญมาก ๆ เก็บไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลนะครับ
นอกจากนี้ หากลองดูให้ดี ๆ ในเมนูต่าง ๆ จะเห็นว่า เราสามารถที่จะทำการ โคลนนิ่งระหว่างฮาร์ดดิสก์ 2 ตัวได้เลย โดยการเลือกที่ในเมนู Drive ซึ่งจะทำให้การ copy ข้อมูลทุกอย่างในฮาร์ดดิสก์ ไปใส่ไว้ในฮาร์ดดิสก์อีกตัวหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว วิธีนี้ ร้านค้าที่ประกอบคอมพิวเตอร์ขายนิยมใช้กันมาก เพราะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็สามารถลงโปรแกรมต่าง ๆ ในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องลูกค้าได้แล้ว หากใครมีเครื่องคอมพิวเตอร์หลาย ๆ ชุดที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะตามร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ต่าง ๆ ที่มักจะมีปัญหากับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ บ่อย ๆ (เนื่องจากมีผู้ใช้งานหลายคน) ก็สามารถที่จะทำการ โคลนนิ่งฮาร์ดดิสก์โดยวิธีนี้ได้ด้วยนะครับ

การสร้าง ลบ หรือจัดแบ่ง พาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ โดยใช้ fdisk

การจัดพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ คือขั้นตอนของการ จัดรูปแบบการใช้งานของ ฮาร์ดดิสก์ ก่อนขั้นตอนการ ฟอร์แมต โดยที่เราสามารถ ทำการแบ่ง ฮาร์ดดิสก์ ออกเป็นขนาดต่าง ๆ เพื่อกำหนดให้ใช้งานได้ในแต่ละ Drive เพื่อความเป็นระเบียบของข้อมูล เช่น ฮาร์ดดิสก์ ขนาดเต็ม 8 GB อาจจะทำการแบ่งออกเป็น Drive C: ขนาด 3 GB เพื่อใช้สำหรับลง Windows และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และทำการแบ่งเป็น Drive D: อีกส่วนหนึ่งโดยให้มีขนาดเป็น 5 GB เพื่อใช้สำหรับเก็บข้อมูลอื่น ๆ เป็นต้น
ชนิดของพาร์ติชั่น จะแบ่งออกตามชนิดของ FAT ต่าง ๆ ได้ดังนี้
  • FAT16 เป็นการจัดพาร์ติชันสำหรับ DOS, Windows 3.1 และ Windows 95 รุ่นแรก ๆ จะรองรับขนาดของพาร์ติชันได้สูงสุดที่ 2 GB ต่อ 1 พาร์ติชั่นเท่านั้น
  • FAT32 เป็นการจัดพาร์ติชันสำหรับ Windows 97 OSR2 และ Windows 98 สามารถรองรับขนาดของพาร์ติชันได้จาก 512 KB ไปจนถึง 64 GB ต่อ 1 พาร์ติชัน
  • NTFS เป็นการจัดพาร์ติชันสำหรับ Windows NT
ดังนั้น หากจะทำการจัดแบ่งพาร์ติชัน ให้ใช้งานฮาร์ดดิสก์ที่ขนาดมากกว่า 2 GB ต่อ 1 พาร์ติชันก็ต้องทำการสร้างพาร์ติชันแบบ FAT32 ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ในระบบ Windows 95 OSR2 หรือ Windows 98 ขึ้นไปเท่านั้น ซอฟต์แวร์ ที่ใช้สำหรับการจัดแบ่ง พาร์ติชันของ ฮาร์ดดิสก์ แบบง่าย ๆ ก็คือโปรแกรม FDISK ที่มีมาให้กับ Windows 98 นั่นเอง โดยที่ต้องอย่าลืมว่า การใช้ FDISK จาก Windows 98 จะสามารถสร้างพาร์ติชันแบบ FAT32 ได้ แต่ถ้าหากเป็น FDISK ที่มากับ Windows 95 หรือของ DOS จะสามารถทำได้เฉพาะระบบ FAT16 เท่านั้นไม่สามารถทำเป็น FAT32 ได้
โดยปกติแล้ว ขั้นตอนการจัดแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ ไม่จำเป็นต้องทำบ่อยนัก จะทำในกรณีที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงรูปแบบ ชนิดของ FAT หรือกำหนดขนาดของพาร์ติชันใหม่เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการจัดพาร์ติชันใหม่นี้ ข้อมูลทุกอย่างที่เก็บอยู่ใน ฮาร์ดดิสก์ จะหายไปทั้งหมดด้วย ดังนั้นต้องระวังหรือทำการเก็บสำรองข้อมูลที่สำคัญเก็บไว้ก่อน ในที่นี้จะยกตัวอย่างของการจัดการ และการแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ โดยการใช้คำสั่ง FDISK ที่มีมากับ Windows เพื่อเป็นการเตรียมฮาร์ดดิสก์ก่อนขั้นตอนการลง Windows ต่อไป
หลักของการแบ่งพาร์ติชั่นด้วย FDISK
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจเรื่องของคำที่จะใช้ และหลักการแบ่งพาร์ติชั่นด้วย FDISK กันก่อนครับ โดยที่มีหลักการแบ่ง เรียงตามลำดับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบง่าย ๆ และรวดเร็วดังนี้
1. ขั้นแรก ต้องสร้างพาร์ติชั่นที่เป็น Primary DOS Partition ก่อน โดยถ้าหากจะแบ่งเป็นไดร์ฟเดียว ก็เลือกตรงนี้ให้มีขนาดเป็น 100% ได้เลย แต่ถ้าหากต้องการแบ่งให้เป็นหลาย ๆ ไดร์ฟ ก็กำหนดขนาดไปตามต้องการ
2. ต่อไป ต้องสร้าง Extended DOS Partition โดยกำหนดขนาดให้เท่ากับพื้นที่ ที่เหลือจากข้อ 1. ครับ ตรงนี้จะยังไม่ใช่ไดร์ฟหรือพาร์ติชั่นตัวที่สอง แต่จะเป็นการกำหนดพื้นที่สำหรับ พาร์ติชั่นตัวที่สองหรือตัวถัดไปเท่านั้น
3. ทำการสร้าง Logical DOS Drive(s) ขึ้นมาอีกครั้ง (ซึ่งจะใช้พื้นที่ของ Extend DOS Partition ที่ได้สร้างไว้แล้ว) โดยที่ตรงนี้ จะกำหนดขนาดของพาร์ติชั่นที่ต้องการสำหรับไดร์ฟถัดไป เช่นอาจจะกำหนด ให้ใช้พื้นที่ ที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็นอีกไดร์ฟหนึ่ง ก็เลือกขนาดเป็น 100% แต่ถ้าหากต้องการแบ่งย่อยขนาดลงไป ก็ต้องสร้าง Logical DOS Drive(s) ให้มีขนาดย่อย ๆ ตามต้องการ
ยกตัวอย่างละกัน สมมติว่าฮาร์ดดิสก์ขนาด 20G. ต้องการแบ่งเป็น 3 พาร์ติชั่น โดยมีขนาดเป็น 5+5+10 จากข้อ 1. ก็ต้องสร้าง Primary DOS Partition ขึ้นมาขนาด 5G. ก่อน แล้วค่อยสร้าง Extended DOS Partition ขนาด 15G. ที่เหลือ จากนั้นค่อยทำการสร้างเป็น Logical DOS Drive(s) โดยกำหนดให้มีขนาด 5G. และ 10G. ตามลำดับครับ
คำ สั่ง FDISK จะสามารถหาได้จากแผ่น Windows 98 Start Up Disk ถ้าหากยังไม่มี ต้องทำการสร้างแผ่น Windows 98 Startup Disk ขึ้นมาก่อน หลังจากนั้น จึงทำการบูทเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการบูทเครื่องจากแผ่น Windows 98 Startup Disk จากนั้น พิมพ์คำสั่ง fdisk แล้วกด Enter

ถ้าฮาร์ดดิสก์มีขนาดใหญ่มากกว่า 512MB จะมีคำถามว่าต้องการสร้างพาร์ติชันขนาดใหญ่หรือไม่ หรือเป็นการถามว่า ต้องการใช้งานแบบ FAT32 หรือไม่นั่นเอง หากตอบ [N] ก็จะเป็นการกำหนดให้ใช้งานแบบ FAT16 หรือเหมือนกับการใช้ FDISK ของ DOS หรือ Windows 95 รุ่นเก่าไป แต่ถ้าต้องการแบ่งพาร์ติชันแบบ FAT32 ก็ให้กด [Y]

เมนูหลักสำหรับการใช้งานแบบต่าง ๆ โดยปกติแล้วจะมีแค่ 4 รายการ แต่ถ้าหากมีการต่อฮาร์ดดิสก์มากกว่า 1 ตัว จะมีเมนูที่ 5 คือ Change current fixed disk drive สำหรับเลือกว่าจะทำงานกับ ฮาร์ดดิสก์ ตัวไหนให้เลือกด้วย การแสดงข้อมูลของ พาร์ติชัน ต่าง ๆ ทำโดยเลือกที่เมนู 4. Display partition information

เมนูของการแสดงพาร์ติชัน (เลือกจากเมนู 4. จากเมนูหลัก) จะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ของพาร์ติชัน ในฮาร์ดดิสก์ จะเห็นรายละเอียดและการกำหนดรูปแบบการใช้งานต่าง ๆ รวมถึงการจัดแบ่งขนาดต่าง ๆ ด้วย ในกรณีที่เป็น ฮาร์ดดิสก์ ที่ยังไม่ได้ทำการจัดพาร์ติชัน ก็จะไม่มีข้อมูลแสดงให้เห็น เราสามารถกดปุ่ม ESC เพื่อกลับไปเมนูหลัก

เมนูของการลบพาร์ติชัน (เลือกเมนู 2. จากเมนูหลัก) จะมีเมนูให้เลือกรายการลบพาร์ติชันต่าง ๆ ซึ่งขออธิบายความหมายของแต่ละพาร์ติชัน ดังนี้
  • Primary DOS Partition เป็นพาร์ติชันหลักของฮาร์ดดิสก์
  • Extended DOS Partition เป็นพาร์ติชันถัดไปของฮาร์ดดิวก์
  • Logical DOS Drive(s) จะเป็นการกำหนดขนาดต่าง ๆ ที่อยู่ใน Extended DOS Partition อีกที ซึ่งสามารถกำหนดการสร้างได้หลาย ๆ Drive ตามต้องการ
  • Non-DOS Partition เป็นพาร์ติขันในระบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ระบบของ DOS
ใน การลบพาร์ติชัน จะต้องทำการลบโดยเรียงลำดับข้อมูลด้วย เช่นต้องลบ Logical DOS Drive ออกให้หมดก่อนจึงจะลบ Extended DOS Partition ได้ และหลังจากนั้น จึงทำการลบ Primary DOS Partition ตามลำดับต่อไป

หากทำการลบพาร์ติชันต่าง ๆ ข้อมูลทุกอย่างที่เก็บอยู่ในพาร์ติชันนั้น ๆ จะหายไปหมด ดังนั้นเมื่อจะทำการลบพาร์ติชัน จะมีการถามยืนยันการลบ โดยให้ใส่ Volume Label ของฮาร์ดดิสก์นั้นก่อนด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการลบข้อมูล โดยไม่ได้ตั้งใจหรือลบผิดพาร์ติชัน ดังนั้น หากจะทำขั้นตอนนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังและอ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อน

เมนูของการสร้างพาร์ติชัน (เลือกเมนู 1. จากเมนูหลัก) จะเป็นการสร้างพาร์ติชันแบบต่าง ๆ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับเมนูของการลบพาร์ติชัน คือจะมีการสร้าง Primary DOS Partion, Extended DOS Partition และการสร้าง Logical DOS Drive ใน Extended DOS Partition ปกติแล้วก็จะสร้างเรียงตามลำดับตามต้องการ

กรณีที่เลือกสร้าง Primary DOS Partition เป็นอักแรก จะมีเมนูถามว่า ต้องการใช้พื้นที่ทั้งหมดในฮาร์ดดิสก์สำหรับทำเป็น Primary DOS Partition หรือไม่ หากต้องการใช้พื้นที่ทั้งหมดสร้างเป็น Drive เดียวก็เลือก [Y] แต่ถ้าหากต้องการระบุขนาดต่าง ๆ ของพาร์ติชันด้วยตัวเอง ก็เลือกที่ [N] เพื่อกำหนดขนาดเอง

จากรูป ถ้าหากเลือกที่จะกำหนดขนาดของ Primary DOS Partition เองโดยเลือก [N] จากขั้นตอนที่แล้ว จะมีเมนูให้ใส่ขนาดของ Primary DOS Partition ตามต้องการ โดยอาจจะใส่เป็นตัวเลขจำนวนของ MB หรือใส่เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ก็ได้ จากตัวอย่างสมมติว่ากำหนดขนาดเป็น 70% ของจำนวนฮาร์ดดิสก์ทั้งหมด ก็ใส่ 70% แล้วกด Enter

หลังจากนั้น ก็ทำการสร้าง Extended DOS Partiton จากส่วนของพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ที่เหลือ โดยการเลือกเมนูที่ 2. Create Extended DOS Partition ทำการกำหนดขนาดของพื้นที่ตามที่ต้องการ จากตัวอย่างคือจะใช้พื้นที่ 30% ที่เหลือทั้งหมด โดยการกำหนดขนาดนี้อาจจะใส่เป็ยตัวเลขจำนวน หรือใส่เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ ก็ได้แล้วกด Enter

หลังจากที่สร้าง Extended DOS Partition แล้วจะมีการแสดงรายละเอียดของการแบ่งพาร์ติชันต่าง ๆ ให้ดูตามรูป

ในส่วนของ Logical Drive จะเป็นการสร้างขึ้นภายในของ Extended DOS Partition อีกที ซึ่งการกำหนดขนาดของพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ ก็กำหนดขนาดตามต้องการ หรือถ้าต้องการแบ่งในส่วนของ Extended DOS Partition ออกเป็นหลาย ๆ Drive ก็สามารถทำการกำหนดแบ่งได้จากส่วนของ Logical Drive นี้

หลังจากที่ทำการสร้างและจัดแบ่งพาร์ติ ชันต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อกลับมาที่เมนูหลัก จะมีคำเตือนว่าไม่มีการกำหนดพาร์ติชันไหน active อยู่เลย ต้องทำการกำหนดพาร์ติชันที่สร้างขึ้นมาให้เป็น active partition ด้วยเพื่อให้สามารถใช้บูทเครื่องได้ การกำหนดทำโดยการเลือกที่เมนู 2. Set active partition

ใส่หมายเลขของ Partition ที่ต้องการให้เป็น active partition และกด Enter

เมื่อเลือกที่เมนู 4. เพื่อดูรายละเอียดต่าง ๆ ก็จะเห็นลักษณะการจัดและแบ่งพาร์ติชันในฮาร์ดดิสก์ รวมถึงพาร์ติชันที่ตั้งให้เป็น active partition ด้วย

หลังจากที่ทำการกำหนดและแบ่ง Partition ต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกจากโปรแกรม FDISK ก็จะมีข้อความเตือนว่า ให้ทำการ Restart เครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ก่อน การจัดพาร์ติชันต่าง ๆ จึงจะมีผลและทำการ format ฮาร์ดดิสก์ต่อไป
การจัดแบ่งพาร์ติชันของ ฮาร์ดดิสก์นี้ โดยปกติแล้ว จะไม่จำเป็นต้องทำทุกครั้งที่ลง Windows ใหม่ ซึ่งจะทำการจัดพาร์ติชัน ก็ต่อเมื่อต้องการจัดแบ่งขนาดของ ฮาร์ดดิสก์ใหม่ หรือต้องการลบข้อมูล ให้สะอาดจริง ๆ เนื่องจากเกิดการติดไวรัส เครื่องคอมพิวเตอร์ เท่านั้น และอย่าลืมว่า การทำ FDISK นี้ข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่ใน ฮาร์ดดิสก์ จะหายไปทั้งหมดด้วย จึงควรจะต้องใช้ความระมัดระวัง ในการทำทุก ๆ ขั้นตอน

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

108 ปัญหา เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่พบกันบ่อย ๆ และแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น

รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย ๆ กับการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ โดย ได้พยายามรวบรวมปัญหาที่พบเห็นกันบ่อย ๆ และนำมาสรุปให้เป็นแนวทางสำหรับ การแก้ไข ปัญหาเบื้องต้น หวังว่าจะมีประโยชน์กับคนอื่น ๆ ได้บ้าง
ปัญหาของ Windows
  • หลังจาก Setup Windows ใหม่แล้วเกิดการค้าง ไม่ยอมทำการ Setup ต่อไป
    เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่พบบ่อย ๆ คือการตั้งค่า Virus Warning ใน bios ไว้ทำให้ เครื่องไม่สามารถ เขียนข้อมูลทับลงบนส่วนของ boot record ของ ฮาร์ดดิสก์ได้ ให้ลองแก้ใน bios ตั้งให้เป็น Disable ไว้ก่อน และหลังจากทำการ Setup Windows เสร็จแล้ว ค่อยตั้งเป็น Enable ใหม่
  • หลังจาก Setup Windows จะขึ้นข้อความ Windows Protection Error
    ที่พบบ่อย ๆ มากคือปัญหาของ RAM อาจจะเป็นเฉพาะช่วงที่ทำการ Setup Windows เท่านั้น (โดยที่ปกติก่อน Setup Windows จะใช้งานได้ ไม่เป็นอะไร) ให้ทดลองหา RAM มาเปลี่ยน ใหม่ดู หรือหากเป็น SDRAM ให้ทดลองตั้งค่าใน bios ค่าของ CAS จากที่ตั้ง เป็น 2 ลองตั้งเป็น 3 ดู อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง
  • ใช้ AMD K6II-350 ขึ้นไปลง Windows95 แล้วเกิด Error แต่ลง Windows98 ได้
    จะเกิดจากการใช้ CPU ของ AMD ที่มีความเร็วตั้งแต่ 350MHz ขึ้นไปกับ Windows95 วิธีแก้ไขคือ ไป Download Patch สำหรับแก้ปัญหานี้ที่ AMDK6UPD.EXE มาแก้ไขโดย สั่งรันไฟล์นี้แล้วบูทเครื่องใหม่ก่อน อ่านรายละเอียดที่นี่
ปัญหาของ ฮาร์ดแวร์
  • RAM หายไปไหน เนี่ย ใส่เข้าไป 32 M. ทำไม Windows บอกว่ามี 28 M. เอง
    อาการของ RAM หายไปดื้อ ๆ จะเกิดกับการใช้เมนบอร์ดรุ่นที่มี VGA on board นะครับ ที่จริงก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ส่วนหนึ่งของ RAM จะถูกนำไป ใช้กับ VGA ครับและขนาดที่จะโดนนำไปใช้ก็อาจจะเป็น 2M, 4M หรือ 8M ก็ได้ขึ้นอยู่กับการตั้งใน BIOS ครับ

  • ใช้เครื่อง ได้สักพัก มักจะแฮงค์ พอปิดเครื่องสักครู่แล้วเปิดใหม่ ก็ใช้งานต่อได้อีกสักพักแล้วก็แฮงค์อีก
    อาจจะเกิดจากความร้อนสูงเกินไป อย่างแรกให้ ตรวจสอบพัดลมต่าง ๆ ว่าทำงานปกติดีหรือเปล่า หากเครื่องทำ Over Clock อยู่ด้วยก็ทดลองลดความเร็วลงมา ใช้แบบงานปกติดูก่อนว่ายังเป็นปัญหาอยู่อีกหรือเปล่า ถ้าใน bios มีระบบดูความร้อนของ CPU หรือ Main Board อยู่ด้วยให้สังเกตค่าของ อุณหภูมิ ว่าสูงเกินไปหรือเปล่า ทั้งนี้อาจจะ ทำการเพิ่มการติดตั้งหรือเปลี่ยนพัดลมของ CPU ช่วยด้วยก็ดี
  • มีข้อความ BIOS ROM CHECK SUM ERROR ตอนเปิดเครื่อง
    อาการนี้ส่วนใหญ่เกิดจากถ่านของ BIOS หมดหรือเกิดการหลวมครับ ให้ลองขยับถ่านให้แน่น ๆ ดูก่อน ถ้าไม่หายก็ต้องลองเปลี่ยนถ่านบนเมนบอร์ดดู (ก่อนเปลี่ยน ถ้ามี Meter วัดไฟดูก่อนก็ดี) หลังจากเปลี่ยนแล้วให้ทำการ Clear BIOS Jumper ก่อนด้วย จะเป็น Jumper ใกล้ ๆ กับ IC BIOS นั่นแหละ ทำการ Jump ค้างไว้สัก 5 วินาทีแล้วก็ Jump กลับที่เดิมก่อน หลังจากนั้นต้องเข้าไปตั้งค่าต่าง ๆ ของ BIOS ใหม่ด้วย
  • ลืม Password ของ BIOS จะทำยังไงดี
    ให้ทำการถอดถ่านของ BIOS ออกสักครู่ แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ ทำการ Clear Jumper BIOS ก่อนด้วย หรือลองดูวิธีการ Clear/Reset Password ของ BIOS
  • ซื้อ ฮาร์ดดิสก์มาขนาดใหญ่ ๆ แต่หลังจากทำการ Format แล้วเครื่อง มองเห็นแค่ 2G
    อย่างแรกให้ดูก่อนเลยว่า ใช้ระบบ FAT16 หรือ FAT32 ถ้าหากเป็น FAT16 จะมองเห็น ได้สูงสุดแค่ 2G ต่อ 1 Partition เท่านั้น ต้องใช้แบบ FAT32 ครับ วิธีการคือใช้ FDISK ของแผ่น Startup Disk WIN98 มาทำ FDISK (ถ้าเป็น FDISK จาก DOS หรือ WIN95 จะเป็นแบบ FAT16) ดูวิธีการ ทำ fdisk และ การ format ฮาร์ดดิสก์ ที่นี่
  • ไม่สามารถใช้งาน ฮาร์ดดิสก์ได้มากกว่า 8G. สำหรับเมนบอร์ดรุ่นเก่า
    เกิดจากที่ BIOS ไม่สามารถรู้จักกับ ฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดใหญ่ ๆ ได้ จะเป็นกับเมน บอร์ดรุ่นเก่า ๆ ที่เคยพบมาอีกแบบคือ Windows มองเห็นเกิน 8G แต่ไม่ สามารถใช้งานได้ จะบอกว่าฮาร์ดดิสก์ของเราเต็ม วิธีแก้ไขอย่างแรกคือ ให้ลองทำการ Update BIOS เป็น Version ใหม่ดูก่อน (ถ้าหาได้) หรือไม่ก็หา Download โปรแกรมสำหรับจัดการพื้นที่ ฮาร์ดดิสก์ จากเวปไซต์ของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อนั้น ๆ หรืออาจจะใช้วิธีการแบ่ง Partition ให้มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 8G ต่อ 1 Partition ก็อาจจะช่วยได้

ปัญหาของ ซอฟต์แวร์
  • หลังจากลง โปรแกรมป้องกันไวรัส McAfee 4.0.3 แล้วไม่สามา รถบูทเข้า Windows ได้
    เท่าที่พบจะเกิดกับบางเครื่องเท่านั้น ปัญหาเกิดจากหลังจากที่เราติดตั้ง McAfee ลงไปแล้ว เครื่องจะทำการ Scan ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์โดยใส่เป็น Batch File ไว้ในไฟล์ autoexec.bat ซึ่งบางครั้ง จะเป็นปัญหาทำให้ค้าง ไม่ยอมเข้า Windows ต่อไป วิธีแก้ไขคือ ให้เปิดเครื่องเข้าใน MS-DOS Mode โดยกดปุ่ม F8 ค้างไว้ขณะ เปิดเครื่อง จะเข้ามาที่เมนู Microsoft Windows 98 Startup Menu เลือกข้อ 6. sefe mode command prompt only แล้วใช้คำสั่ง "edit autoexec.bat" เพื่อแก้ไขไฟล์โดยให้ลบบรรทัดที่มีคำสั่ง scan.exe ออกครับ ทำการ save file แล้วทดลองบูท เครื่องใหม่อีกครั้ง
  • พิมพ์หน้า Web Page ออกเครื่องพิมพ์แบบ Ink Jet เป็นภาษาไทย ไม่ได้ จะมีแต่ภาษา อังกฤษ
    ส่วนใหญ่ ปัญหานี้จะเกิดกับการใช้เครื่องพิมพ์แบบ อิงค์เจ็ท รุ่นใหม่ ๆ วิธีแก้ไขคือ ให้ลองหา Download Driver รุ่นใหม่ ๆ ของเครื่องพิมพ์จาก Web Site ของเครื่อง พิมพ์นั้น ๆ เพราะบางครั้งอาจจะมีการแก้ไข ปัญหานี้แล้ว หรือไม่ก็ใช้วิธีเข้าไปตั้งค่า Regional Settings ที่ Control Panel เป็น English(USA) ก่อน เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วก็เปลี่ยนกลับมาเป็น Thai เหมือนเดิม การตั้งค่าก็ทำโดยกดที่ Start เมนู >> Settings >> Control Panel เลือกที่ Regional Settings เปลี่ยนเป็น English(USA)
  • สั่ง Defrag Hard Disk แล้วไม่ยอมเสร็จ จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ วนแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ สาเหตุเกิดจากมีโปรแกรมบางตัวทำงานอยู่ในเวลานั้นด้วยและสั่ง เขียนข้อมูลลงบนฮาร์ดดิสก์ เช่น Screen Saver, Winamp หรือพวก Anti Virus บางตัว ให้ทำการปิดโปรแกรมเหล่านี้ให้ หมดก่อน หรืออาจจะใช้วิธีเข้า Windows ใน Self Mode (กด F8 ตอนเปิดเครื่องแล้วเลือก Self Mode)
  • ใช้การ์ดจอของ TNT แล้วเมื่อ พิมพ์ข้อความต่าง ๆ สระบนล่างไม่ ยอมขึ้นมาทันที
    ต้องพิมพ์ตัวต่อไปก่อนจึงจะเห็น เป็นปัญหาที่ พบบ่อยมาก ๆ กับผู้ที่ใช้การ์ดจอของ TNT ครับให้ลองหา Driver รุ่นใหม่ ๆ จากเวปไซต์ของผู้ผลิตการ์ดจอมาใช้ จะแก้ไขได้หรือใช้ Driver ของ Detonator Version 3.65 ขึ้นไป หาได้จาก http://www.3dchipset.com

108 ปัญหา เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่พบกันบ่อย ๆ และแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น

Shop Amazon's Gift Cards - Perfect Anytime

.